วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

การก่อสร้างในอดีต องค์ความรู้ที่ซ่อนอยู่ในโบราณสถาน

     สิ่งก่อสร้างในอดีตทิ้งรอยเรื่องราวความเป็นมาและประวัติศาสตร์ที่ยาวนานผ่านยุคสมัย พร้อมกับคำถามมากมายว่าคนโบราณสามารถสิ่งอันน่าตื่นหน้าตื่นตาอย่างนี้มาได้อย่างไร นอกจากความสวยงาม และประวัติศาสตร์แล้วมนุษย์เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีก่อสร้างและวิธีคิดขอ

      โบราณสถานต่างๆที่มีอยู่อย่างชุกชุมในทั่วทุกมุมโลก  แสดงให้เราเห็นถึงอารยะธรรมที่ยาวนานของเผ่าพันธุ์มนุษย์ รวมถึงความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ความรู้ความสามารถในเชิงการก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างที่ยืนยงคงอยู่นานนับพันปีเป็นที่น่าประหลาดใจมิใช่น้อย มนุษย์ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือสามารถสิ่งมหัศจรรย์สิ่งที่ใหญ่โตมโหฬารและสามารถยืนยงคงทนอยู่ได้นานนับๆพันปี ในขณะที่ปัจจุบัน เครื่องไม้เครื่องมือเพียบพร้อม ทั้งด้านทุนทรัพย์สติปัญญาและเครื่องไม้เครื่องมือ แต่สร้างมาได้ไม่นานก็ต้องเสื่อมถอยพังทลายลงอย่างง่ายดายหากเรามองในแง่ร้ายอาจจะเป็นเพราะปัจจัยหลักจากการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นตามยุคสมัยก็เป็นได้

           มีคนกล่าวไว้ว่าการศึกษาอดีตเป็นเรื่องที่สามารถทำให้เรากำหนดอนาคตได้ บางครั้งเราก็อดไม่ได้ที่เห็นการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ในสมัยอดีตไม่ว่าจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกหรือโบราณสถานต่างๆที่มีอยู่อย่างชุกชุม  ทำให้เราคนในยุคปัจจุบันอดทึ่งในความสามารถนั้น สำหรับประเภทของการก่อสร้างโบราณสถานแบบต่างๆหากยึดเอาตามการแบ่งประเภทของการบูรณะของกรมศิลปากรก็จะแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้

           1.โบราณสถานที่สร้างด้วยดิน โบราณสถานแบบนี้มักเป็นโบราณสถานที่ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมากนักมักจะถูกสร้างเป็นกำแพงเมือวง คันคิน คูเมืองต่างๆ

           2.โบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ โบราณสถานจำพวกนี้ถูกก่อสร้างด้วยอิฐเป็นส่วนใหญ่  เช่น โบสถ์ วิหารเจดีย์ต่างๆ  ซึ่งกรรมวิธีขั้นตอนในด้านการก่อสร้างจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค

           3.โบราณสถานที่สร้างด้วยหินและศิลาแลง โบราณสถานจำพวกนี้มักถูกสร้างด้วยหินหรือศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ ดั่งพวกปราสาทหินที่พบในพื้นที่ต่างๆ  เช่น ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น

           4.โบราณสถานที่สร้างด้วยไม้ เช่นพวกอาคารบ้านเรือนของราษฎรในอดีต ศาลา ที่โด่งดังก็เห็นจะเป็นพระที่นั่งวิมานเมฆก็ทำการสร้างด้วยไม้เป็นหลักเช่นกัน

                             
                                 วัดไชยวัฒนารามอีกหนึ่งโบราณสถานที่สวยงามของไทย
                                       ภาพจาก www.pointthailand.com/
           ภูมิปัญญาในการคิดการสร้างสิ่งก่อสร้างในสมัยโบราณประกอบไปด้วยองค์ความรู้มากมาย ในการก่อสร้างบางสิ่งบางอย่างถ้าให้คนในสมัยนี้สร้างโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ยังล้าหลังเหมือนกันกับช่วงเวลานั้นก็ยังคงเป็นเรื่องหนักใจว่าจะสามารถสร้างมันขึ้นมาได้หรือไม่

           สิ่งก่อสร้างที่ออกจะดูน่าพิศวงในโลกเรามีอยู่ด้วยกันหลายแห่งที่ดูเข้มเขลังและเต็มไปด้วยปริศนาคงไม่มีโบราณสถานแห่งไหนเกินหน้าเกินตาปิรามิดแห่งเมืองกิซ่า 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณที่ร่วมกับสิ่งมหัศจรรย์ชนิดอื่น

           เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกถูกกล่าวถึงครั้งแรกเมื่อราว 500 ปี ก่อนคริสตกาล ในงานของเฮโรโดตุส (Herodotos หรือ Herodotus) เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณนั้นประกอบไปด้วย

           1.มหาพีระมิดแห่งกิซ่า ในประเทศอียิปต์ ก่อสร้างขึ้นราว 2,700 ปีก่อนคริสตกาล
           2.สวนลอยบาบิโลน ในประเทศอิรัก ก่อสร้างขึ้นราว 600 ปีก่อนคริสตกาล
           3.เทวรูปเทพซีอุส ในประเทศกรีก สร้างเมื่อประมาณ 462 ปีก่อนคริสตกาล
           4.วิหารไดอานา ในประเทศกรีก ก่อสร้างขึ้นราว 400 ปีก่อนคริสตกาล
           5.สุสานของกษัตริย์มอโซลุส ในประเทศตุรกีก่อสร้างขึ้นราว 353 ปีก่อนคริสตกาล
           6.เทวรูปโคโลสซูสแห่ง ในประเทศกรีกก่อสร้างขึ้นราว 280 ปีก่อนคริสตกาล
           7.ประภาคารฟาโรส ประเทศอียิปต์ ก่อสร้างขึ้นราว 271 ปีก่อนคริสตกาล

           หลังจากนั้นยังมีการจัดแบ่งสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางและโลกปัจจุบันอีก แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้จัดลำดับ  ในปัจจุบัน สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณได้พังทลายลงหมดแล้วยังคงเหลือแค่ปิรามิดแห่งเมืองกิซ่าแห่งอาณาจักรอียิปต์ เท่านั้นที่ยังคงยืนยงคงอยู่ได้ มาตราบเท่าทุกวันนี้พร้อมด้วยปริศนาคำถามมากมายว่าปิรามิดขนาดมหึมาแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไรในยุคที่มนุษย์เรายังล้าหลัง ซึ่งผ่านกาลเวลามาแล้วนานกว่า 5,000 ปี  ปริศนาแห่งปิรามิดอียิปต์ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่แน่ชัดได้

           ปิรามิดอียิปต์ถูกสร้างขึ้นโดยการนำหินขนาดมหึมาเรียงซ้อนกันซึ่งภายหลังนักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจเพราะการก่อสร้างปิรามิดดังกล่าวเป็นไปตามหลักการทางคณิตศาสตร์และเป็นไปตามทฤษฎีที่พิธาโกรัสได้คิดค้นขึ้นภายหลังทุกประการ  บริเวณตรงกลางฐานของปิรามิดใช้หินทรายและหินปูนเป็นแกนกลาง ซึ่งนำมาจากเมืองตุราซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองไคโรไปราวประมาณ 960 กิโลเมตร

           วิธีที่ชนชาวอิยิปต์ตัดแท่งหินขนาดใหญ่นั้นมีข้อสันนิษฐานในเชิงวิชาการต่างๆมากมาย บ้างว่าชาวอียิปต์ใช้สิ่วทองแดงทำการสกัด ใช้ลิ่มไม้ตอกสลับกับการเทน้ำลงเป็นระยะๆ จากนั้นจึงใช้ค้อนตอกลงอีกครั้งเพื่อต้องการตัดหินให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการเพื่อนำมาสร้างเป็นปิรามิด หินแต่ละก้อนมีน้ำหนักเฉลี่ยราว 2.5 ตันเลยทีเดียว ในขณะที่บางก้อนก็ใหญ่โตมโหฬารมีน้ำหนักมากถึง 15 ตัน  การลำเลียงหินน้ำหนักขนาดนั้นจึงกระทำได้ยากมากๆ  แต่สันนิษฐานกันว่าชาวอิยิปต์โบราณใช้การ เคลื่อนย้ายหินมาในช่วงฤดูน้ำหลากโดยใช้ล้อเลื่อนช่วยผ่อนแรงทำให้เคลื่อนย้ายได้สะดวกขึ้น  โดยใช้แรงงานคนช่วยกันลาก  เชื่อกันว่าการสร้างปิรามิดใช้เวลากว่า 30 ปีเลยทีเดียว

                              
                                         ปิรามิด สิ่งก่อสร้างโบราณที่เต็มไปด้วยปริศนา
                                           ภาพจาก http://school.obec.go.th/
           แต่มีบางกระแสที่เชื่อว่าชาวอียิปต์ใช้วิธีการสร้างทางลำเลียงก้อนหินขึ้นไปสู่ยอดเป็นขั้นบันได้เมื่อทำการก่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้ทำลายขั้นบันไดที่ใช้ลำเลียงหินนั้นทิ้งไปเสีย เหล่านี้เป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานที่ยังไม่มีใครอาจหาญยืนยันว่าแท้ที่จริงแล้วชาวอียิปต์สร้างปิรามิดได้อย่างไร

           มีบันทึกของนักวิทยาศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริศตกาลที่เคยเดินทางมาประเทศอิยิปต์ได้บันทึกไว้ว่า ชนชาวอิยิปต์สร้างปิรามิดได้ด้วยการอาศัยเครื่องยกหิน โดยเครื่องยกดังกล่าวทำจากแท่งไม้ยาวๆ  มีลักษณะคล้ายปั่นจั่นเพื่อใช้ในการทุ่นแรงในการยกหินขึ้นไปวางเรียงราย   แต่กลับไม่ปรากฏหลักฐานร่องรอยเกี่ยวกับเครื่องมือที่ถูกกล่าวไว้ในอียิปต์เลย   แต่ถึงกระนั้นหลักฐานก็บ่งชี้ว่าชนชาวอียิปต์เรียนรู้เกี่ยวกับการผ่อนแรงมานานแล้ว พวกเขานำเอาต้นปาปิรัสมา มัดรวมกันเพื่อทำเป็นตาชั่ง ทำเป็นคานบนกระเดื่อง  เพื่อใช้ชั่งน้ำหนัก ทั้งยังรู้วิธีการวิดน้ำเข้าสวนเข้าไร่ของพวกเขา โดยการใช้คานวิดเหมือนกัน

           ไม่ว่าจะสันนิษฐานกันมาอย่างไร แต่การก่อสร้าง ปิรามิดยังคงเต็มไปด้วยปริศนามาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

           ส่วนการก่อสร้างสถานที่ต่างในสมัยโบราณของเมืองไทยนั้น ถูกจัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท นอกจากประสาทหินที่มีอยู่ชุกชุมใน แถบภาคอีสาน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากขอมนั้น ศิลปะที่เป็นของไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของสิ่งก่อสร้างจากอิฐ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทที่ 2 ของกรมศิลปากร ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การก่อสร้างในลักษณะนี้มีพัฒนาการเรื่อยมา

           วัสดุก่อหรืออิฐในอดีตสามารถสร้างได้โดย อาศัยวัสดุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเอามาทำให้แข็งตัวเพื่อได้เป็นอิฐใช้ในการก่อสร้าง มนุษย์เราเรียนรู้เกี่ยวกับการทำอิฐมานานนับพันปี  พบว่ามนุษย์เริ่มใช้อิฐในการก่อสร้างครั้งแรกๆตั้งแต่สมัยอียิปต์ยังเรืองอำนาจ โดยนำดินจากแม่น้ำไนล์มาปั้นเป็นก้อนตามต้องการแล้วนำไปตากให้แห้งโดยไม่ผ่านการเผา เมื่อแห้งดีแล้วจะนำมาใช้งานเลยทันทีเพราะสภาพภูมิอากาศแถบนั้นมีฝนตกน้อย  แต่ในแถบอารยะธรรมไทกริก ยูเฟรติส กลับใช้ดินดิบที่ตากแดดจนแห่งสนิทดีแล้วนำไปเผาไฟผ่านความร้อนอีกที เพื่อจะนำมาใช้ทำเป็นอิฐ

           ในประเทศไทยก็เรียนรู้การผลิตอิฐมาใช้ในการก่อสร้างมาแล้วอย่างช้านาน ซึ่งมีกรรมวิธีย่อๆดังนี้

การผลิตอิฐ
           1. การเลือกดิน  การเลือกดินเพื่อนำมาผลิตเป็น อิฐจะต้องเลือกดินที่ไม่มีวัสดุอย่างอื่นปะปนมากเกิน  เช่น ทราย หรือเศษไม้  หากมีทรายผสมมากเกินไปเมื่อนำมาผลิตเป็น อิฐจะทำให้ได้อิฐที่ร่วนได้ทั้งยังต้องเป็นดินที่ไม่เหนียวจนเกินไปเพราะเมื่อนำไปผลิตเป็น อิฐแล้วจะทำให้เกิดการแตกร้าวได้
           2. การเตรียมดิน  เมื่อได้ดินที่ต้องการนำมาผลิตเป็นอิฐแล้วต้องมีการแช่น้ำไว้ระยะหนึ่ง จากนั้นจึงทำการคัดแยกวัสดุที่แปลกปลอมเช่นทราย หรือเศษไม้เศษหญ้าต่างๆ แล้วจึงนำมานวด เพื่อให้เนื้อดินมีการผสมผสานตัวเข้ากันได้ดี ในระหว่างที่ทำการนวดจะมีการผสมขี้เถ้าลงไปด้วยเพื่อ ป้องกันไม่ให้ดินผิดแม่พิมพ์เมื่อนำไปอัดพิมพ์สำหรับการทำอิฐ
           3. การทำให้เป็นรูปแบบตามต้องการ ในระยะแรกของการทำให้อิฐให้มีรูปแบบตามต้องการจะอาศัยใช้การปั้นด้วยมือ แต่ต่อมาภายหลังมนุษย์เรียนรู้ที่จะทำแบบพิมพ์จึงอาศัยการอัดเข้าแบบพิมพ์แทน
           4. เมื่อถอดดินออกจากแบบพิมพ์แล้วขั้นตอนต่อไปของการผลิตคือการนำมาตากแดดให้แห้ง ซึ่งจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ตามฤดูกาลด้วยในฤดูร้อนอาจใช้เวลาในขั้นตอนนี้ไม่มาก
           5. การตกแต่งอิฐ  เมื่อได้ดินที่แห้งสนิทแปรสภาพเป็นอิฐเรียนบร้อยแล้วก็จะนำมาตกแต่งส่วนที่ขาดเกิน ตามความประสงค์เพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการ
           6.  การเผาอิฐ ถือว่าเป็นขั้นตอนสุดกท้ายในการผลิตอิฐของ คนในยุคสมัยก่อน ก่อนที่จะนำอิฐอังกล่าวไปใช้งานในการก่อสร้าง  การเผานั้นทำได้โดยการนำดินที่ตากแห้งแล้วมาวางเรียงกันเว้นระยะระหว่างแถวพอประมาณ  เมื่อวางอิฐที่เตรียมจะเผาเรียบร้อยแล้วก็จะใช้อิฐที่เผาสำเร็จ มาวางกั้นเป็นอาณาเขตคล้ายเตาเผา แล้วใช้แกลบโรยลงในระหว่างแถวของก้อนดินที่เตรียมจะเผา เพื่อให้ความร้อนกระจายได้ทั่วถึง  และจะมีการเติมแกลบลงไปตลอดเวลา การเผาแบบนี้จะเป็นวิธีการเผาแบบใช้แกลบ จะมีวิธีการเผาอิฐอีกแบบหนึ่งคือการใช้ท่อนไม้ ฟืนมาทำเป็นเชื้อเพลิง ในการเผา  การเผาด้วยฟืนแทนแกลบนี้ จะทำได้ด้วยการสร้างเตาเผาโดยอิฐที่เผาเรียบร้อยแล้ว เว้นช่องสำหรับการเติมฟืนอยู่ด้านล่างเตาเผา จะใช้เวลาในการเผาประมาณ 1-2 วัน อิฐที่ได้จากการเผาแบบใช้ฟืนจะมีความแข็งแรงทนทานกว่า การเผาด้วยแกลบ

                                        
                 พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ราชบุรีเป็นโบราณสถานอีกแห่งของไทยที่สร้างด้วยอิฐ
                                             ภาพจาก www.tourdoi.com/
วัสดุเชื่อมประสาน
           แน่นอนว่าเมื่อได้อิฐมาแล้วการจะนำมาสร้างโบราณสถานต่างๆในอดีตนั้นจะต้องมีวัสดุเชื่อมประสานระหว่างอิฐแต่ละก้อนด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันอาศัยปูนซีเมนต์เป็นวัสดุเชื่อม  แต่ในอดีตใช้วัสดุเชื่อมที่ทำมาจาก เปลือกดินหรือสอดินโดยมีดินเหนียวเป็นส่วนผสมหลัก โดยนำดินเหนียวไปผสมกับทราย น้ำอ้อย และน้ำ กวนให้เข้ากัน  แต่การใช้เปลือกดินหรือสอดินเป็นตัวเชื่อประสานนี้จำเป็นต้องใช้ เป็นจำนวนมากเพื่อให้ อิฐแต่ละก้อนสามารถต่อกันได้อย่างแข็งแรง

วัสดุฉาบ
           เป็นสิ่งสำคัญอีกประการในการก่อสร้างสมัยก่อน การฉาบผิวช่วยทำให้อิฐซึ่งเป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างไม่โดนแดดลมและทำให้เกิดการชำรุดทรุดโทรมได้โดยง่าย วัสดุฉาบนี้คนโบราณผลิตจากการนำเปลือกหอย  หินปูน หินอ่อน และวัสดุอื่นๆ มาเผา จนกลายสภาพเป็นปูนดิบ มีการผสมทรายลงไปเพื่อป้องกันการหดตัวของปูนเมื่อนำไปใช้ในการก่อสร้าง  เหล่านี้เป็นภูมิปัญญาของคนในสมัยก่อนที่จะเรียนรู้เอาสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติมาสร้างประโยชน์ต่อสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่

           การก่อสร้างในสมัยโบราณ บางอย่างก็ยังคงเป็นปริศนา เป็นเรื่องชวนฉงนในความสามารถของผู้คนในยุดนั้น ว่าสามารถสร้างขึ้นมาได้อย่างไรในสถานการณ์และสภาพความเป็นอยู่ในสมัยนั้น แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาพร้อมๆโบราณสถานอันยิ่งใหญ่ตะการตา องค์ความรู้ต่างๆมากมายที่ประกอบกันขึ้นเป็นโบราณสถาน ที่ซ่อนไปด้วยความรู้ทางคณิตศาสตร์ สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมศาสตร์  ภูมิปัญหาของคนในอดีตที่บางทีเราก็ไม่อาจจะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีคิดของพวกเขาได้อย่างแจ่มแจ้ง แต่บางอย่างเราก็อดฉงนไม่ได้ต่อองค์ความรู้ต่างๆมากมายที่ประกอบกันขึ้นเป็นโบราณสถาน

แหล่งอ้างอิง
           1. ภูมิปัญญาพื้นถิ่นด้านการใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างในงานสถาปัตยกรรมประเภทวิหารของเชียงใหม่และ สิม ของหลวงพระบาง โดย ผ.ศ.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ ร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว
           2. http://th.wikipedia.org

1 ความคิดเห็น:

  1. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเวลา 12.30 น. ศูนย์รับแจ้งเหตุชมรมเบตงเพื่อสังคมได้รับการแจ้งจากประชาชนว่าพบงูขนาดใหญ่ไม่ทราบชนิด พยายามที่จะเลื้อยเข้าไปภายในบ้านเลขที่ 17 ถนนมหามงคล อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งภายหลังที่มีการรับแจ้ง ประธานชมรม พร้อมด้วยอาสาสมัครมูลนิธิกวนอิมเมตตาธรมเบตงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุดเชี่ยวชาญด้านปราบอสรพิษและจับสัตว์เลื้อยคลานประเภทงูเข้าไปช่วยเหลือในทันที และแน่นอนว่าเมื่อชาวบ้านได้รู้ข่าว ต่างก็มามุงดูเพื่อหาเลขเด็ด แต่เจ้าของบ้านไม่ได้ติดเลขที่ไว้ จึงแอบกระซิบถามเจ้าของบ้านว่าบ้านเลขที่เท่าไหร่ เพราะจะนำเอาเลขไปเสี่ยงโชคกัน ยิ่งใกล้วันหวยออกแบบนี้ก็ทำให้คอยหวยต่างยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เพราะได้เลขเด็ดเอาไว้ไปเสี่ยงดวง

    อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.sanook.com/news/8539258/

    ตอบลบ