วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

เมื่อแรกมีถนนในกรุงเทพฯ

             ความจริง  เมืองไทยได้มีถนนมาช้านานแล้ว  ตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ในสมัยสุโขทัย  คือ เมื่อประมาณหกร้อยกว่าปีมานี้ ก็ได้ม่ีถนนพระร่วง  ใช้เป็นทางคมนาคม  ระหว่างกรุงสุโขทัย กับ เมืองกำแพงเพชรสายหนึ่ง และระหว่างกรุงสุโขทัย กับเมืองศรีสัชนาลัย  อีกสายหนึ่ง  ดังที่ปราฏซากเหลือให้เห็นเป็นบางตอนในปัจจุบัน

     

       สำหรับถนนในกรุงสุโขทัย  ก็คงจะมีหลายสายเช่นเดียวกัน และในสมัยอยุธยา ก็ได้ความว่าในกรุงศรีอยุธยา มีถนนอยู่หลายสายเหมือนกัน ดังมีหลักฐานปรากฏว่า นายแพทย์ เองเกลเบิร์ก  แคมป์เฟอร์ ชาวเยอรมัน ที่เข้ามาเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2233 ในรัชสมัย สมเด็จพระเพทราชา  บันทึกสภาพกรุงศรีอยุธยา  มีความตอนหนึ่งว่า 

    "...ถนนสายกลาง ซึ่งแล่นเหนือขึ้นไปยังพระราชวังนั้น มีผู้คนอยู่อย่างคับคั่งที่สุด แน่นขนัดไปด้วยร้านค้า                                                                                                                             
 ร้านช่างศิลปะและหัตถกรรมต่าง ๆ..."

       ส่วนในสมัยของรัตนโกสินทร์ตอนแรก ๆ  คือ ตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างพระนคร จนกระทั่งถึงรัชกาล  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ปรากฏว่า มีถนนในพระนครอยู่หลายสายเหมือนกัน แต่ถนนส่วนใหญ่ เป็นถนนดิน แคบและสั้น  เมื่อถึงฤดูแล้ง ก็เป็นฝุ่น  พอถึงฤดูฝน ก็เฉอะแฉะเป็นโคลนตม ถึงแม้ว่าบางถนน จะใช้อิฐเรียงตะแคง แต่ก็เอาทราย และดินถมเป็นหน้าถนน  ถนนดังกล่าว จึงมีสภาพไม่ต่างกับถนนดินเท่าใดนัก

       ครั้นถึงในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเห็นว่า ถนนหนทางในพระนคร ชำรุดทรุดโทรมมาก พระองค์จึงได้ทรงประกาศแผ่พระราชกุศล ซ่อมแซมถนนเป็นการใหญ่ ตามหมายประกาศ   ดังนี้
ถนนบำรุงเมืองในอดีต
    "ด้วย เจ้าพญายมราชชาติเสนางคนรินทรมหินทราธิบดี รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สั่งว่า  บัดนี้ถนนในพระนคร ชำรุดซุดโซม  ยับย่อยไปมาก สมณชีพราหมณ์ อนาประชาราษฎร เดินไปเดินมาลำบาก จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพญายมราชเปนแม่กอง ทำถนนที่ชำรุดลุ่มซุดไปนั้น ทำเสียใหม่ให้เปนปรกติ เปนหลายแห่ง แล้วทรงพระราชดำริห์ว่า การก่อถนนนี้ เปนสาธารณกุศล เปนประโยชน์แก่คนทั่วไป ใคร ๆ ก็จะได้เดินไปมาสบาย   สดวกกันทุก ๆ  คน ควรที่ท่านทั้งปวง จะยินดีทำด้วยกัน เพราะฉะนั้น จึงโปรดเกล้าโปรดกะรหม่อม ให้ประกาษบอกแผ่การพระราชกุศล ต่อพระบรมวงษาณุวงษ์ ข้าราชการผู้ใหญู่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน ค่างน่าค่างใน ในพระบรมมหาราชวัง ที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ในจำนวนปีมเสง  นพศกนี้ ให้ได้ส่วนพระราชกุศลด้วยกัน ตามได้ตามมีตามศรัทธาอุสาห
     คือขอให้เอาอิดดีบ้าง อิดหักบ้าง มากแลน้อยตามแต่จะยินดี ช่วยมากแลน้อย ไม่ว่าไม่เกน จงมาเภิ่มในการพระราชกุศลทุก ๆ  คนเทิญ
     เมื่อจะเอาอิดดี ฤๅอิดหักมาส่งนั้น ให้มาส่งกับเจ้าพญายมราช แม่กองแต่ในเดือนอ้ายเดือนยี่ ปีมเส็ง นพสก โปรดให้จดหมายรายวัน ตามผู้ใดมีสัทธา ได้เอาอิดมาส่งมากแลน้อย ให้มหาดเล้กรายงานกราบทูลพระกรุณาทรงทราบ จะทรงอนุโมทนาด้วยท่านทุก ๆ  คน ตามรับสั่ง
     ตีพิมพ์ประกาษ การพระราชกุสล  ณ วันพุทธ เดือนสิบสอง แรมสามค่ำ ปีมเสง นพศก"
    นี่คือ การริเริ่มการบูรณะถนนหนทางเป็นครั้งแรก ในรัชกาลที่ 4  เมื่อตอนต้น ๆ  รัชกาล แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้ซ่อมแซมถนนอะไรบ้าง
     อย่างไรก็ตาม พอจะสันนิษฐานได้ว่า ถนนที่ซ่อมแซมดังกล่าว คงจะเป็นถนนรอบ ๆ พระบรมมหาราชวังนั่นเอง เพราะเมื่อสมัยต้นรัชกาลที่ 4  มีถนนสำคัญ  เพียงรอบ ๆ  พระบรมมหาราชวังเท่านั้น
     เนื่องจาก การคมนาคมในสมัยนั้น ยังคงใช้ทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นจะสร้างถนนจึงไม่มี  ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ก่อนหน้านั้นขึ้นไป จะไม่มีการสร้างถนนเลย  มีแต่การให้ขุดคลอง แม้ในรัชกาลต่อมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม่น้ำลำคลอง ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการคมนาคมอยู่
    ครั้นถึง พ.ศ. 2400  พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯ ให้ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เป็นแม่กองขุดคลอง จากคลองผดุงกรุงเกษม ผ่านทุ่งวัวลำพอง (หัวลำโพง) ตรงออกไปบรรจบกับคลองพระโขนง ที่คลองเตย โดยให้ขุดเอาดินถม ทำเป็นถนนริมฝั่งคลอง  ทางข้างเหนือด้วย รวมเสียค่าจ้างทั้งขุดคลองและทำถนน เป็นเงิน 16,633 บาท เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์โปรดให้เรียกคลองนี้ว่า คลองถนนตรง ด้วย
    เหตุนี้ ถนนดังกล่าว จึงเรียกว่า ถนนตรง ตามชื่อคลองไปด้วย แต่ส่วนใหญ่พากันเรียกว่า ถนนวัวลำพองตามชื่อทุ่ง
     ครั้งเมื่อเปลี่ยนเป็นเรียกหัวลำโพง ถนนก็เรียกว่า ถนนหัวลำโพง   ภายหลัง จึงได้เปลี่ยนชื่อ เป็นถนนพระราม 4  ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
     ส่วนสาเหตุที่จะขุดคลองทำถนนตรงนั้น ก็เนื่องมาจากพวกฝรั่ง ที่เข้ามาตั้งห้างร้าน ค้าขายอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้าใต้พะรนคร คือแถวสี่พระยา บางรัก สาธร วัดพญาไกรในปัจจุบัน ได้ทำเรื่่องราว เข้ายื่นต่อกรมท่าว่า พวกพ่อค้าต่างประเทศที่ตั้งห้างร้านค้าขายอยู่นั้น ได้รับความลำบาก และเสียเวลาในการเดินเรือ ค้าขายกับพระนคร จึงคิดจะพากันไปตั้งห้างร้านค้าขาย อยู่ที่ใต้ปากคลองพระโขนง ตลอดลงไปจนถึงบางนา จึงขอให้ทางการช่วยสงเคราะห์ ขุดคลอง ทำถนนให้เป็นทางลัด เพื่อจะได้ไปมาค้าขายกับพระนคร ได้สะดวก แต่ครั้นเมื่อโปรดฯ ให้ขุดคลองถนนตรงแล้ว พวกพ่อค้าต่างประเทศดังกล่าว ก็หาได้ย้ายลงไปตั้งห้างร้าน ตามสถานที่ดังกล่าวไม่ ทั้งนี้ จะเป็นเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบ    
ถนนมหาไชย ในอดีต
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2404  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองกับ พระอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง เป็นนายงานตัดถนน ตั้งแต่คลองคูพระนครชั้นใน (คือคลองโอ่งอ่าง ในปัจจุบัน) ที่ริมวังเจ้าเขมร ตรงลงไปต่อกับถนนตรง หรือถนนหัวลำโพง ที่คลองผดุงกรุงเกษม สายหนึ่ง และตัดถนนแยกจากถนนใหม่ ตรงเหนือวัดสามจีน (วัดไตรมิตรฯ) ตรงลงไปหลังบ้านฝรั่ง  จนตกฝั่งแม่น้ำที่ตำบลดาวคนอง อีกสายหนึ่ง ถนนนั้น ก็คือถนนเจริญกรุง หรือถนนตก  แต่เมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ  ราษฎรพากันเรียกว่า ถนนใหม่ ส่วนฝรั่งก็เรียกตามไทยว่า "นิวโรด" ซึ่งแปลว่า ถนนใหม่เช่นกัน
    เรื่องการสร้างถนนเจริญกรุงนั้น ก็มีสาเหตุจากพวกฝรั่งอีกเช่นกัน คือกงสุลต่างประเทศ ได้เข้าชื่อทำเรื่องถวายว่า
     "ชาวยุโรปเคยขี่รถ ขี่ม้า เที่ยวตากอากาศได้ตามสาบาย ไม่มีเจ็บไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพพระมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้า พากันเจ็บไข้เนือง ๆ ได้ทรงทราบหนังสือแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่า พวกยุโรป ได้เข้ามาอยู่ในกรุงมากขึ้น ทุกปี ๆ  ด้วยประเทศบ้านเมืองเขา มีถนนหนทางก็เรียบรื่นสะอาดไปทุกบ้านทุกเมือง บ้างเมืองของเรามีแต่รกเรี้ยว หนทางก็เป็นตรอกเล็กซอยน้อย หนทางใหญ่ ก็เปรอะเปื้อน ไม่เป็นที่เจริญตา ขายหน้าแก่ชาวนานาประเทศเขาว่า เข้ามาเป็นการเตือนสติ เพื่อจะให้บ้านเมืองงดงามขึ้น"
    ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงโปรดฯ ให้สร้างถนนเจริญกรุง ตอนนอกกำแพงเมืองขึ้น เพื่อจะให้พวกฝรั่งได้มีถนนสำหรับขีม้าเที่ยวเล่น ตามที่ได้กราบทูลร้องทุกข์ไว้

1 ความคิดเห็น:

  1. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเวลา 12.30 น. ศูนย์รับแจ้งเหตุชมรมเบตงเพื่อสังคมได้รับการแจ้งจากประชาชนว่าพบงูขนาดใหญ่ไม่ทราบชนิด พยายามที่จะเลื้อยเข้าไปภายในบ้านเลขที่ 17 ถนนมหามงคล อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งภายหลังที่มีการรับแจ้ง ประธานชมรม พร้อมด้วยอาสาสมัครมูลนิธิกวนอิมเมตตาธรมเบตงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุดเชี่ยวชาญด้านปราบอสรพิษและจับสัตว์เลื้อยคลานประเภทงูเข้าไปช่วยเหลือในทันที และแน่นอนว่าเมื่อชาวบ้านได้รู้ข่าว ต่างก็มามุงดูเพื่อหาเลขเด็ด แต่เจ้าของบ้านไม่ได้ติดเลขที่ไว้ จึงแอบกระซิบถามเจ้าของบ้านว่าบ้านเลขที่เท่าไหร่ เพราะจะนำเอาเลขไปเสี่ยงโชคกัน ยิ่งใกล้วันหวยออกแบบนี้ก็ทำให้คอยหวยต่างยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เพราะได้เลขเด็ดเอาไว้ไปเสี่ยงดวง

    อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.sanook.com/news/8539258/

    ตอบลบ