วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554



สนามบินสุวรรณภูมิ-หนองงูเห่า
ประวัติการก่อสร้าง
ขอบคุณ คอลัมน์รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น

สนามบินหนองงูเห่ามีความเป็นมาอย่างไร


 งานนี้ต้องเลื้อยกลับไป พ.ศ.2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยกระทรวงมหาดไทยว่าจ้างบริษัทลิชฟิลด์แห่งสหรัฐอเมริกาศึกษาและวางผังเมืองสำหรับจังหวัดพระนครในอนาคต รายงานผลการศึกษาได้มีข้อเสนอว่ากรุงเทพฯ ควรจะมีสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่เพื่อแยกเครื่องบินพลเรือนออกจากเครื่องบินทหาร โดยเสนอให้อยู่ที่ตำบลดอกไม้ และตำบลหนองบอน ห่างใจกลางพระนครไปทางตะวันออก 17 กิโลเมตร



ต่อมากรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม สำรวจและศึกษาโดยละเอียดแล้วเห็นว่าที่ตั้งดังกล่าวอยู่ใกล้สนามบินดอนเมืองเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านการบินได้ จึงสำรวจพื้นที่ใหม่และเห็นว่าบริเวณหนองงูเห่าในพื้นที่ตำบลบางโฉตำบลราชาเทวะ และตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เหมาะสมกว่า ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล และคนไทยก็เริ่มได้ยินชื่อ สนามบินหนองงูเห่า ตั้งแต่นั้นถึงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร กระทรวงคมนาคมให้สัมปทานบริษัทนอร์ธทรอปแห่งสหรัฐอเมริกาลงทุนก่อสร้างและดำเนินการบริหาร อายุสัมปทาน 20 ปี แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2516 สัญญาสัมปทานจึงถูกยกเลิกไป

กระทั่ง 5 ปีต่อมา สนามบินหนองงูเห่าจึงถูกยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง
พ.ศ.2520 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด ประเมินความเหมาะสมแล้วสรุปว่าควรเลือกดอนเมือง หรือหนองงูเห่า เป็นสถานที่ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ ผ่านมาถึง พ.ศ.2534 กรมการบินพาณิชย์ทบทวนเรื่องพื้นที่ก่อสร้างอีกครั้ง มีการเสนออำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และที่เขตบางขุนเทียน แต่ก่อนดำเนินการก็เกิดรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลต่อมามีมติเห็นชอบตกลงเลือกหนองงูเห่า เป็นอันสิ้นสุดข้อโต้แย้งที่ยืดเยื้อมา 3 ทศวรรษ อนุมัติจัดตั้งท่าอากาศยานแห่งที่ 2 ที่หนองงูเห่าวันที่ 16 พฤษภาคม 2534
27 กุมภาพันธ์ 2539 ก่อตั้งบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้างและบริหาร โดยกำหนดจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จและเปิดบริการในระยะแรกในปี 2543 รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี

11 กุมภาพันธ์ 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้างใหม่ และให้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการในระยะแรกในปี 2547 วงเงินลงทุนประมาณ 120,000 ล้านบาท มีพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ หรือประมาณ 32 ตารางกิโลเมตร ที่สุดก็ได้ฤกษ์ทดสอบสนามบินที่มีอายุการก่อสร้างเกือบครึ่งศตวรรษ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำหนดวันพฤหัสบดี 29 กันยายน 2548 เวลา 9.19 นาที เป็นฤกษ์ดีนำเครื่องบินเที่ยวทดสอบบินลง สนามบินสุวรรณภูมิ
 


สนามบินสุวรรณภูมิ

ก่อสร้างลานจอด สนามบินสุวรรณภูมิ


งานก่อสร้างลานจอด สนามบินสุวรรณภูมิ 2



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น